หน้าหลัก ข่าวและบทความ การเลือกใช้กระจกในอาคารบ้านเรือน
บทความ

การเลือกใช้กระจกในอาคารบ้านเรือน

รู้จักกับประเภทของกระจกอาคาร เพื่อการเลือกใช้กระจกนิรภัยอาคารอย่างเหมาะสม

 ในปัจจุบัน อาคารส่วนใหญ่จะนิยมใช้กระจกเป็นส่วนประกอบของผนังอาคาร เพราะจะช่วยให้ตัวอาคารภายนอกมีความสวยงามทันสมัย ในขณะที่ภายในอาคารก็จะมีแสงแดดธรรมชาติส่องเข้ามามากขึ้นด้วย ทำให้ห้องดูโปร่ง กว้าง ไม่อึดอัด อีกทั้งผู้ที่อยู่ภายในอาคารยังสามารถมองออกไปเห็นทัศนียภาพภายนอกได้มากขึ้นด้วย

อย่างไรก็ตาม การเลือกกระจกมาใช้เป็นผนังอาคาร ผู้ออกแบบอาคารจะต้องเลือกกระจกอาคารให้ถูกประเภท โดยที่จะต้องคำนึงถึงความสามารถในการคัดกรองความร้อนจากแสงแดด และความแข็งแรงทนทานของกระจก เพื่อที่ผู้อยู่อาศัย หรือผู้ใช้อาคาร จะได้สามารถอยู่อาศัยได้อย่างปลอดภัย และไม่เปลืองค่าไฟในการเปิดเครื่องปรับอากาศมากนัก

แล้วกระจกมีกี่ประเภท? กระจกประเภทใดที่เหมาะกับการใช้เป็นกระจกนิรภัยอาคาร? KSG กมลพิศาลกระจกนิรภัย จะพาคุณไปทำความรู้จักประเภทของกระจกชนิดต่าง ๆ เพื่อที่จะได้เลือกใช้กระจกอาคารได้อย่างเหมาะสมเอง อ่านได้เลยที่บทความนี้

กระจกอาคารมีกี่ประเภท แต่ละประเภทมีจุดเด่นอย่างไร?

กระจกที่นำมาใช้เป็นผนังอาคารจะมีอยู่ 5 ประเภทหลัก ๆ ได้แก่ กระจกธรรมดา, กระจกกึ่งนิรภัย, กระจกนิรภัยเทมเปอร์, กระจกลามิเนต และกระจกฉนวนความร้อน โดยกระจกอาคารแต่ละประเภทจะมีจุดเด่นที่แตกต่างกัน ดังนี้

1. กระจกอาคารธรรมดา (Float Glass)

กระจกอาคารธรรมดาจะแบ่งเป็น 2 แบบ ได้แก่ กระจกใส และ กระจกสี มีความแตกต่างกันดังนี้

1.1. กระจกใส (Clear Float Glass)

กระจกใส เป็นกระจกโปร่งแสงที่สามารถมองผ่านได้อย่างชัดเจน และให้ภาพสะท้อนที่สมบูรณ์ ไม่บิดเบี้ยว สามารถมองเห็นจากภายนอกเข้ามาภายในอาคารได้อย่างชัดเจน โดยค่าตัดแสงจะขึ้นอยู่กับความหนาของกระจก เช่น กระจกใสที่มีความหนา 12 มิลลิเมตร จะมีค่าตัดแสงประมาณ 8%
กระจกใสนั้น จะดูดกลืนความร้อนได้น้อยมาก ทำให้ผิวกระจกไม่ร้อนเมื่อต้องอยู่กลางแสงจ้า หรือในที่ที่มีอุณหภูมิสูง และเหมาะกับการใช้กับห้องที่ต้องการมองเห็นทัศนียภาพภายนอกอย่างชัดเจน แต่จะไม่ค่อยเป็นส่วนตัวเท่าไหร่ แนะนำให้ติดตั้งม่านเพิ่มเติม ในกรณีที่ต้องการความเป็นส่วนตัว

1.2. กระจกสี (Tinted Float Glass)

สีของกระจกเกิดจากโลหะออกไซด์ที่ผสมเข้าไปในขั้นตอนการผลิต แต่ก็จะส่งผลให้ผิวของกระจกมีความร้อน เนื่องจากโลหะออกไซด์จะมีคุณสมบัติในการดูดความร้อน ซึ่งจะทำให้ความร้อนจากกระจกแผ่เข้ามาภายในอาคารได้มากกว่ากระจกชนิดอื่น ๆ โดยปริมาณการดูดกลืนความร้อนจะขึ้นอยู่กับส่วนผสมของเนื้อกระจก อย่างไรก็ตาม กระจกสีสามารถตัดแสงไม่ให้เข้ามาภายในอาคาร และกรองแดด หรือบังแดดได้มากกว่ากระจกใส ซึ่งจะช่วยลดความจ้าของแสงที่ส่งผ่านเข้ามาได้ดี ทำให้ได้แสงที่นุ่มนวล และเกิดความสบายตาในการมองมากกว่ากระจกใส
สำหรับผู้ที่ต้องการใช้งานกระจกสีเป็นกระจกอาคาร ควรหลีกเลี่ยงการให้ลมเย็นจากเครื่องปรับอากาศเป่ากระทบกับผิวหน้าของกระจกโดยตรง เพราะจะทำให้กระจกสูญเสียพลังงานในการทำความเย็นของเครื่องปรับอากาศอย่างมาก และไม่ควรติดผ้าม่านที่มีความหนาทึบ วางตู้เหล็ก หรือสิ่งของอื่น ๆ ชิดกับกระจก หรือติดติดตั้งปิดบังกระจกโดยไม่เหลือที่ให้ถ่ายเทความร้อนเลย เพราะอาจทำให้กระจกสะสมความร้อนเพิ่มขึ้น และเสี่ยงต่อการแตกร้าวได้ง่าย
นอกจากนี้ ผู้ใช้งานไม่ควรที่จะทาสี หรือติดแผ่นกระดาษใด ๆ ลงบนผิวกระจก และควรตัด หรือฝนขอบกระจกให้เรียบ เพื่อที่จะทำให้ขอบกระจกมีความทนทานต่อการแตกร้าวจากแรงดึงและแรงเค้นที่ผิวและขอบของกระจกนั่นเอง

2. กระจกกึ่งนิรภัย (Heat Strengthened Glass)

กระจกกึ่งนิรภัย ผลิตโดยนำแผ่นกระจกธรรมดามาผ่านกระบวนการอบความร้อนที่อุณหภูมิประมาณ 700 องศาเซลเซียส และทำให้เนื้อกระจกค่อย ๆ เย็นลงอย่างช้า ๆ โดยใช้ลมเป่าไปยังกระจกทั้ง 2 ด้าน ซึ่งจะทำให้กระจกมีความแข็งแกร่งกว่ากระจกธรรมดา 2 เท่า สามารถรับแรงอัดของลมได้ดีกว่ากระจกธรรมดาที่มีความหนาเดียวกัน
กระจกกึ่งนิรภัยนั้น เป็นหนึ่งในกระจกนิรภัยอาคารที่เหมาะจะนำไปติดตั้งกับโครงสร้างอาคารสูง เพราะสามารถป้องกันการแตกจากความร้อนได้ และมีลักษณะการแตกเป็นแผ่น ๆ ไม่หลุด เหมือนกับการแตกของกระจกธรรมดา

3. กระจกนิรภัยเทมเปอร์ (Tempered Glass)

กระจกนิรภัยเทมเปอร์ หรือที่เรียกว่า “กระจกอบ” เป็นกระจกที่นิยมใช้เป็นกระจกนิรภัยอาคารมาก เพราะเมื่อกระจกนิรภัยเทมเปอร์แตก จะแตกเป็นเกล็ดเล็ก ๆ คล้ายกับเม็ดข้าวโพด และไม่มีความคม จึงทำให้เกิดอันตรายได้น้อย ซึ่งจะแตกต่างจากกระจกธรรมดา ๆ ที่แตกเป็นเสี่ยง ๆ ซึ่งจะมีความแหลมคม และทำให้เป็นอันตรายมากกว่า
นอกจากนี้กระจกนิรภัยเทมเปอร์ยังมีความแข็งกว่ากระจกธรรมดาถึง 5 เท่า ซึ่งเกิดจากกระบวนการผลิตแบบพิเศษที่นำแผ่นกระจกไปอบด้วยความร้อนสูง และใช้ลมเป่าให้เย็นลงอย่างรวดเร็ว ไม่ว่าจะในสภาพอากาศร้อนจัด หรือหนาวจัด หรืออยู่ในพื้นที่ที่เสี่ยงต่อการกระทบกระแทก ก็สามารถใช้งานกระจกนิรภัยเทมเปอร์ได้อย่างสบายใจ

4. กระจกลามิเนต (Laminated Glass)

กระจกลามิเนต เป็นกระจกนิรภัยหลายชั้นที่เกิดจากการนำเอากระจกนิรภัยเทมเปอร์ และกระจกธรรมดา ตั้งแต่ 2 แผ่นขึ้นไปมาประกบติดกัน โดยจะมีแผ่นฟิล์ม PVB ที่มีคุณสมบัติเหนียวคั่นกลาง คอยทำหน้าที่ยึดแผ่นกระจกให้ติดกัน
ผลที่ตามมาคือจะทำให้เวลาที่กระจกลามิเนตแตก เศษกระจกจะยึดติดกัน ไม่ร่วงหล่นลงมา เพราะมีชั้นฟิล์มคอยยึดเกาะระหว่างแผ่นกระจกเหมือนใยแมงมุม ซึ่งจะช่วยลดอันตรายที่อาจเกิดขึ้นได้มาก
และเนื่องจากกระจกลามิเนตเป็นกระจกนิรภัยหลายชั้น จึงสามารถป้องกันเสียงรบกวนภายนอก และเก็บเสียงได้ดีกว่ากระจกทั่วไป สามารถป้องกันความร้อนได้ดี ทนต่อแรงดันลมในที่สูงและแรงอัดกระแทกได้สูง จึงเหมาะที่จะนำมาใช้งานเป็นกระจกนิรภัยอาคารอย่างมาก
ตัวอย่างการใช้งานกระจกลามิเนต เช่น

  • กระจกหน้าต่างอาคาร ผนังภายใน
  • ประตูทางเข้าอาคาร และประตูภายในอาคาร
  • ตู้กระจกแสดงสินค้า และสถานที่ที่มีความเสี่ยงต่อการโจรกรรม เช่น พิพิธภัณฑ์, ร้านเครื่องเพชร, ร้านทอง เป็นต้น
  • กระจกที่ติดตั้งอยู่เหนือศีรษะ หรือผนังลาดเอียง เช่น หลังคา
  • ผนังห้องประชุม เพื่อลดเสียงรบกวนจากภายนอก
  • ธนาคาร ที่ทำการไปรษณีย์ และสถานที่อื่น ๆ ที่ต้องการรักษาความปลอดภัยเป็นพิเศษ
  • ราวบันได ราวระเบียง ราวเฉลียง เพื่อช่วยป้องกันการพลัดตกจากที่สูง
  • กระจกกันกระสุน

5. กระจกฉนวนความร้อน (Insulating Glass Units)

กระจกฉนวนความร้อนจะมีกระบวนการผลิตคล้าย ๆ กับกระจกลามิเนต คือ มีการนำกระจก 2 แผ่นมาประกอบติดกัน แต่จะใช้เฟรมอะลูมิเนียมคั่นกลางแทนการใช้แผ่นฟิล์ม PVB ซึ่งจะช่วยป้องกันการถ่ายเทความร้อนระหว่างภายในกับภายนอกอาคารได้ดี อีกทั้งยังสามารถป้องกันเสียงรบกวนจากภายนอกได้ด้วย
กระจกฉนวนความร้อนนั้น นับเป็นอีกหนึ่งกระจกที่เหมาะกับการนำมาทำเป็นกระจกอาคารสำหรับที่พักอาศัย เพราะสามารถช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายและพลังงานได้มากนั่นเอง

สรุป : การเลือกใช้กระจกอาคาร หรือกระจกนิรภัยอาคาร

จะเห็นได้ว่า กระจกแต่ละประเภทจะมีจุดเด่นที่ต่างกัน ซึ่งจะส่งผลให้เหมาะกับการนำมาใช้เป็นกระจกอาคารที่แตกต่างกันตามไปด้วย เช่น กระจกใสที่เหมาะสำหรับนำไปใช้ในห้องที่ต้องการมองเห็นทัศนียภาพภายนอกอย่างชัดเจน แต่อาจจะไม่เหมาะกับการนำมาใช้ในโครงสร้างอาคารสูง เพราะมีความแข็งแรงทนทานน้อย ในขณะที่กระจกเทมเปอร์ หรือกระจกลามิเนต เป็นกระจกอาคารที่เหมาะสำหรับนำมาใช้เป็นกระจกนิรภัยอาคารสำหรับโครงสร้างอาคารสูงโดยเฉพาะ เพราะมีความแข็งแรงทนทานกว่ากระจกธรรมดาทั่วไป การเลือกใช้งานกระจกอาคารอย่างเหมาะสม จึงต้องดูที่จุดประสงค์เป็นหลักนั่นเอง

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

แชร์

แท็ก


คุณน่าจะสนใจ